Responsive image Responsive image

อ. ชมชวน บุญระหงษ์ l รู้จักหัวเรือใหญ่ทำให้เกษตรกรรมยั่งยืนเมืองเหนือเติบโต

27 สิงหาคม 2562



แนะนำตัวอาจารย์คู่คิดโครงการศาลานาผู้ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในภาคเหนือบ้านเรา

ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ คือผู้ที่มีองค์ความรู้เข้มข้นด้านเกษตรกรรมยั่งยืนที่ทำงานเผยแพร่ความรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาคเหนือมายาวนานหลายสิบปี ด้วยจุดเริ่มต้นของลูกชาวนา ที่ได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวสร้างหนี้สินที่เพิ่มพูนและวนเวียนไม่รู้จบ ไม่นับถึงปัญหาสุขภาพของตัวเกษตรกร ผู้บริโภค จนถึงมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเติบโตขึ้น อาจารย์ชมชวนจึงกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยวิถีเกษตรที่ยั่งยืนหลากรูปแบบตั้งแต่เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ จนถึงวนเกษตร โดยยึดหลักการเรื่องความมั่นคงทางอาหารซึ่งหมายถึงการเข้าถึงอาหารในราคาเป็นธรรม เกษตรกรอยุู่ได้ และสังคมอยู่ได้ รวมถึงหลักการทำงานใน 3 ระดับคือการสร้างพื้นที่รูปธรรม การทำงานกับสาธารณะชน และร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนทางนโยบาย

อาจารย์ชมชวนทำงานผลักดันให้เกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นจริงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และใน พ.ศ. 2536 ก็ร่วมกับเพื่อนก่อตั้ง ‘สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC)’ เพื่อสนับสนุนการสร้างและขยายชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งช่วยพัฒนาสภาวะต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการประสบผลสำเร็จของเกษตรกรและผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนให้เกิดมาตรฐานการรับรองสินค้าออร์แกนิคที่กลมกลืนกับวิถีชีวิตของเกษตรกรภาคเหนือบ้านเรา นั่นคือ สมาคมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) และเมื่อมองเห็นว่าเกษตรกรไม่เชี่ยวชาญในการสร้างตลาดขายผลผลิต อาจารย์ชมชวนก็ก่อตั้งศูนย์สินค้าเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ‘อิ่มบุญ’ รวมถึงตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ ทั้งข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ ตลาดนัดวันเสาร์ที่ JJ Market ตลาดนัดฮอบบี้ มาร์เก็ต ตลาดนัดในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายผลผลิตดีๆ ของเกษตรกรแก่ผู้บริโภค 

หลังจากทำงานขับเคลื่อนจาก ‘ภายนอก’ มายาวนาน ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนตัดสินใจเบนเข็มไปขับเคลื่อนจาก ‘ภายใน’ ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้เผยแพร่องค์ความรู้สู่หนุ่มสาวที่เป็นความหวังของประเทศ ผ่านช่องทางอย่างโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด โครงการสร้างและพัฒนาผู้นำเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ ที่อบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้คนรุ่นใหม่อย่างเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เลยรวมไปถึงการร่วมเป็นที่ปรึกษาหลักให้กับศาลานา เข้าร่วมการประชุมวิชาการ สนับสนุนข้อมูลหลักสูตรศาลานา อีกทั้งยังร่วมเป็นวิทยากรอบรม เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ผลิตอินทรีย์คุณภาพที่เข้าใจความยั่งยืนอย่างถ่องแท้ เพราะภาพที่อาจารย์มุ่งหวัง ไม่ใช่เพียงการสร้างเกษตรกรอินทรีย์ที่คิดเป็น ทำเป็นเท่านั้น แต่การทำงานร่วมกันกับศาลานาในครั้งนี้ คือการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนแนวทางนี้ให้เติบโตและขยายแรงกระเพื่อมให้มากขึ้น 

“เกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องของการพัฒนาคนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการพัฒนาเทคนิคหรือวิธีการเท่านั้น หมายความว่าท่ามกลางการปลูกพืช ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ แปรรูป หรือทำตลาด กระบวนการทำเหล่านั้น ทําให้คนทำเป็นคนคิดเป็น ทําเป็น แก้ไขปัญหาเป็น และเท่าทัน การร่วมกันสร้างกลุ่มและเครือข่ายให้เป็นเครื่องมือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งเป็นการควบคุมคุณภาพผลผลิตไปในตัว ฝึกจิตสาธารณะไม่เอาเปรียบคนอื่น เกษตรอินทรีย์จึงเป็นเรื่องของการพัฒนา สร้างให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาของชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้บริโภคเป็นเพื่อนกัน ไม่เอาเปรียบกัน ดูแลสุขภาพซึ่งกันและกัน ลุกขึ้นมาจัดการและกำหนดอนาคตการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นตัวเอง โดยไม่ต้องรอภาครัฐ ร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน ร่วมสร้างสังคมให้เป็นธรรม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ 

“อาจสรุปได้ว่าเกษตรอินทรีย์เป็นเครื่องมือที่ช่วยบ่มเพาะความสมบูรณ์ของการเป็นมนุษย์และสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง”

เพราะความเชื่อมั่นในมนุษย์และการแบ่งปัน ความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนของอาจารย์ชมชวนจึงงอกงาม กลายเป็นต้นไม้ แปลงผัก ผืนนาเขียวมากมายที่ทำให้คนทำ คนกิน และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน  

------------------------
เรื่อง : ธารริน อดุลยานนท์
ภาพ : ศาลานา



เรื่องที่น่าสนใจ

มาตรฐาน Salana PGS ข้างถุงข้าว บอกอะไรเราบ้าง?

เรื่องดัก ‘เก๋า’ เกี่ยวกับข้าว ที่ยังหอมฉุยอยู่ในความทรงจำ

จักรวาลในจานข้าวสีม่วงดำ ย้อนดูเส้นทางจากจานข้าวพูน ๆ เพิ่มพูนสิ่งดี ๆ ให้ใครบ้าง

ตาวิเศษเห็นนะ ว่าเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนี้เล่นมือถือมานานจนตาเริ่มล้า

วิตามินรวมในรูปของข้าวอบเห็ดและสลัดผักย่าง