Responsive image Responsive image

สุขสันต์วัน ‘แม่ก็คือแม่’

9 สิงหาคม 2564

แม้ไม่ได้ดูแลอยู่ใกล้ ๆ แต่ลูกก็ห่วงใยแม่ทุกวันนะ



สำหรับลูกทุก ๆ คน แม้จะเติบใหญ่จนมีภาระหน้าที่การงาน แยกออกมาอยู่บ้านของตัวเอง มีครอบครัว หรือวันนี้ต้องทำหน้าที่พ่อแม่เสียเอง แต่ความห่วงใยที่เรามีให้พ่อแม่กลับยิ่งมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพ ยิ่งท่านก้าวเข้าสู่สูงวัย บางทีเราก็ต้องงัดเอากลยุทธ์มาสู้กับความดื้อ งอแง ไม่ยอมดูแลตัวเอง ในแบบฉบับของพ่อ ๆ แม่ ๆ ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

เนื่องในวันแม่ปีนี้ ศาลานา ขอเป็นตัวแทนเหล่าลูก ๆ ที่ห่วงใย ส่งต่อ ‘ข้อความเล็ก ๆ’ คอยเตือนเหล่าแม่ ๆ ให้ดูแลตัวเองเวลาอยู่บ้านทั้งในเรื่องการอยู่การกิน อยากให้รู้ว่าในบางเวลาที่ไม่มีลูกเฝ้าดูแลจับตาอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็อย่าลืมว่ามีคนคอยเป็นห่วงเป็นใยอยู่เสมอนะ อย่างอแงล่ะ!

สุขสันต์วันแม่ ถึงจะดื้อแค่ไหน ‘แม่ก็คือแม่’ ของเราเสมอ :)



รีบนอนนะ อย่ามัวแต่อ่านไลน์ 

เหล่าแม่สูงวัยพอใช้โทรศัพท์คล่อง ๆ หลายคนมีอาการติดมือถือจนวางไม่ลง ไหนจะภารกิจสวัสดีเพื่อน ๆ ทั้งเช้าและก่อนนอน ส่งต่อข่าวด่วนรายวัน แบ่งปันข้อคิดในการใช้ชีวิต แชร์เคล็ดลับการดูแลตัวเองให้เพื่อนในกรุ๊ปไลน์ ฯลฯ จนลืมดูแลตัวเองในชีวิตจริง คุณแม่บางคนแอบนอนเล่นไลน์จนถึงดึกดื่นเที่ยงคืน พอลูกจับได้ก็บอกว่า “นอนดึกไม่เห็นเป็นไร เดี๋ยวแม่นอนกลางวันชดเชยเอาก็ได้” อยากบอกว่าคิดแบบนี้ไม่ได้นะแม่!

เหตุผลที่ลูกๆ อยากให้พ่อแม่เข้านอนไว เพราะสำหรับผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป การนอนให้ได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวันอาจยังไม่พอ แต่ควรนอนก่อนเวลา 22 นาฬิกาด้วย เพื่อให้ ‘โกรทฮอร์โมน’ หลั่งออกมาซ่อมแซมกล้ามเนื้อได้เต็มที่ แถมข้ออ้างนอนกลางวันอาจทำให้กลางคืนยิ่งหลับยากเข้าไปใหญ่ ถ้าหากง่วงมาก ๆ หรือรู้สึกเพลียตอนกลางวัน ขอแนะนำให้คุณแม่งีบเป็นคาบสั้น ๆ แค่ 10-20 นาที แต่ถ้าจะให้ดีกับสุขภาพและช่วยชะลอวัย ลูก ๆ ฝากบอกว่าการเข้านอนให้ไวยังไงก็ยั่งยืนกว่านะ



ยืนบนเก้าอี้ไม่ได้นะ เดี๋ยวล้ม 

อีกหนึ่งความคลาสสิกของแม่ คือมักจะชอบทำงานบ้านตอนที่ลูกไม่อยู่ช่วย เวลาต้องหยิบอะไรสูง ๆ ก็คว้าเก้าอี้ที่อยู่ใกล้ตัวมายืนต่อขา ปัญหาก็คือถ้าเกิดก้าวพลาด ก้มเงยผิดท่าจนเส้นยึด หรือขาอ่อนแรงจนล้มขึ้นมา ลูก ๆ คงโกรธตัวเองมากแน่ๆ ที่ดูแลแม่ไม่ดีพอ

ที่จริงแล้ว การที่ผู้สูงวัยลุกขึ้นมาทำงานบ้านนับเป็นเรื่องดี เพราะการขยับตัวหรือการก้าวเดินที่เพิ่มขึ้นวันละ 400-500 ก้าว ย่อมเป็นสัญญาณสุขภาพที่ดีกว่าการนั่งดูทีวีหรือนอนนิ่ง ๆ เพียงแต่ลูก ๆ อยากให้แม่เลือกงานบ้านให้เหมาะสมกับข้อจำกัดทางร่างกายในวัยของตัวเอง ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยู่บ้านแล้วอยากมีหน้าที่หรือกิจกรรมกระฉับกระเฉง ลองนึกถึงงานบ้านง่าย ๆ ที่ไม่ต้องเสี่ยงล้มหรือปวดเมื่อย อย่างการกวาดบ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน หรือเก็บขยะไปทิ้งหน้าบ้านก็พอ ลูก ๆ จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง



ห้ามแอบกินขนมหวาน ๆ ล่ะ

คำเตือนข้อสุดท้ายคือการกิน เรื่องนี้อดไม่ได้ที่ลูก ๆ จะใส่ใจเป็นพิเศษ เมื่อไหร่ที่เห็นคุณแม่เริ่มกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หวานจัด เค็มจัด มันจัด ก็จะคอยบอกคอยห้ามเสมอ จนบางครั้งคุณแม่เลยหัวไว อาศัยจังหวะที่ลูกไม่อยู่บ้าน เปิดขนมหวานในตู้เย็นมากินซะหน่อย เก็บกดมานาน โธ่!

คุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า ในผู้สูงวัยบางคนอาจมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านการรับรสและการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ทำให้บางครั้งกินอะไรก็จืดไปหมดจนใจมันอยากจะปรุงเพิ่ม แต่อาการชอบกินอาหารหวาน ๆ เติมน้ำตาลเพิ่มเพราะติดหวานโดยไม่รู้ตัว จะทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังขึ้นมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมถึงการควบคุมภาวะโรคประจำตัวก็อาจจะแย่ลงตามไปด้วย

วิธีลดหวานง่าย ๆ ที่ลูกอยากมอบให้คุณแม่ คือพยายามไม่ปรุงน้ำตาลเพิ่มในมื้ออาหาร ส่วนนอกมื้ออาหารเพิ่มได้ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ลดละเลิกน้ำหวานและน้ำอัดลม ทั้งหมดนี้อยากให้ลองเริ่มทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และสุดท้ายการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ อย่าง ‘แอนโทพลัส’ เครื่องดื่มชงจากข้าวอินทรีย์ ผสมแอนโทไซยานินจากผิวข้าวสีเข้ม ย่อมดีต่อสุขภาพคุณแม่ และดีต่อใจคุณลูกอย่างแน่นอน


 



เรื่องที่น่าสนใจ

รู้จักต้นกำเนิดของสารสีม่วงในเครื่องดื่มข้าว Antho-PLUS+

คด ‘ข้าวเหลือก้นหม้อ’ มาทำ Rice Cracker กรุบกรอบ กินคู่ซัลซ่าทำเองสุดเฮลท์ตี้

เติมขุมพลังให้คนวัยทำงาน ด้วยการเลือกกินข้าวดี ๆ ของศาลานา

ทำไมศาลานาถึงเชื่อมั่นใน Smart Farmer?