Responsive image Responsive image

แผนที่ข้าวดี

12 กรกฎาคม 2564

เพราะหัวใจสำคัญของข้าวอินทรีย์อยู่ที่ “ดิน”

เมื่อไม่ได้พึ่งปุ๋ย พึ่งยา แต่อาศัยความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ และความใส่ใจของคนปลูก เลี้ยงดูให้ต้นข้าวเติบโตจนออกรวง การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับดิน ฟ้า อากาศ ในพื้นที่นั้น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่ว่าข้าวทุกพันธุ์จะปลูกได้ทุกที่แค่มีดิน 

ดังนั้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังข้าว 5 สายพันธุ์ศาลานา ซึ่งนอกเหนือไปจากคุณประโยชน์หลากหลายจากข้าวแต่ละสายพันธุ์ ก็คือการสนับสนุนข้าวดีจาก “ดินอื่น” ที่อาจจะไม่เป็นที่นิยมในตลาด มาเบลนด์รวมอยู่ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรอินทรีย์ได้ดูแลดิน และข้าวที่เหมาะกับพื้นที่นั้น ๆ เพื่อขยายการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางยิ่งกว่าเดิม ผ่านการทำนาอินทรีย์ 

ไปดูกัน ว่าข้าว 5 สายพันธุ์ ที่คุณเลือกกินนี้ มาจากดินดีที่ดินแดนใดบ้าง



ข้าวหอมมะลิ 105 
ถือกำเนิดจากภาคกลาง แต่เติบโตหอมฟุ้งด้วยดินอีสาน


เริ่มต้นด้วยข้าวยอดนิยม ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกชัดเจน ว่าข้าวพันธุ์เดียวกันแต่ปลูกคนละดิน ก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะข้าวหอมมะลิ 105 นี้ เกิดในนาภาคกลาง แต่การปลูกในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ทำให้เม็ดข้าวอ้วนและหักง่าย แต่เมื่อนำมาลองปลูกดินแล้ง ร่วนปนทราย ที่ภาคอีสาน ข้าวพันธุ์นี้กลับมีเมล็ดยาวเรียว ใส และหอมฟุ้งจากอากาศที่กลางวันแดดแจ้งร้อนจัด และกลางคืนมีหมอกชื้นหนาวเย็น 

และข้าวหอมมะลิ 105 ศาลานา มาจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์แห่งดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งเกษตรกรอินทรีย์จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง ยโสธร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ สุรินทร์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลโพธิ์ทอง และกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านน้ำอ้อม ร้อยเอ็ด รวมถึงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง อำเภอห้างฉัตร ในลำปาง อีกผืนดินที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพ มาใส่จานของเรา 

ข้าวหอมมะลิแดง  
ขวัญใจชาวนาอินทรีย์ แตกกอจากข้าวหอมมะลิ สู้เพลี้ยเก่ง 


จากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของกอข้าวหอมมะลิ 105 ที่กอหนึ่งให้เมล็ดข้าวที่มีเยื่อหุ้มสีแดงเรื่อ เมื่อทดลองปลูกในศูนย์วิจัยข้าวในปีที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบุกท้องนา สายพันธุ์ที่แกร่งสู้ศัตรูพืชสายโหดนี้ได้ ถูกส่งต่อและปลูกในหลากหลายพื้นที่ เพราะแม้จะชอบดินร่วนปนทราย แต่จะดินไหนข้าวหอมมะลิแดงก็สู้ไม่หวั่น ยิ่งได้ฝนก็ยิ่งงาม จึงปลูกได้ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสาน 

และข้าวหอมมะลิแดงพันธุ์แกร่งแถมเคี้ยวอร่อยของศาลานา มาจากแผ่นดินของเกษตรกรอินทรีย์จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง ยโสธร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ สุรินทร์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร ลำปาง รวมทั้งดินแดนภาคกลางจากนาอินทรีย์ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.แหลมบัว) ที่นครปฐมด้วย

ข้าวมะลินิลสุรินทร์ 
ถิ่นกำเนิดอยู่สุรินทร์ แต่ก็พร้อมเติบโตแบบอินทรีย์ในดินแดนอื่น


ข้าวคุณประโยชน์สูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระนี้ กำเนิดขึ้นในสถานีวิจัยข้าวสุรินทร์ เนื่องจากเป็นข้าวที่น่าส่งเสริมให้ปลูกแบบอินทรีย์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดข้าวโภชนาการสูง จึงชักชวนเกษตรกรอินทรีย์ที่พร้อมดูแลมาปลูกปั้นข้าวสีเข้มพันธุ์นี้ด้วยกัน ด้วยความที่ข้าวมะลินิลสุรินทร์ชอบดินร่วนเกือบแล้ง ไม่ชอบน้ำมาก รอหว่านหลังฝนชุกก็พร้อมโต แม้ว่าจะสู้โรคหรือศัตรูพืชได้ไม่เก่งนัก แต่ถ้าชาวนาอินทรีย์ดูแลดีก็พร้อมโตได้ดี และให้ผลผลิตคุ้มค่าการดูแล 

และข้าวมะลินิลสุรินทร์ศาลานานี้ มาจากการประคบประหงมดูแลดินอย่างดี จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร ลำปาง

ข้าวหอมปทุมธานี1
หอมนุ่มคล้ายหอมมะลิ แต่เติบโตดีในนาปรังภาคกลาง


พื้นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์และมีระบบชลประทานทั่วถึง ฟังดูเหมาะเจาะกับการทำนา แต่นั่นกลายเป็นว่านาส่วนใหญ่ในภาคกลางมักเป็นนาเคมีที่เน้นปลูกข้าวเชิงจำนวน น้อยนักที่จะปลูกข้าวอินทรีย์ที่ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยพึ่งยา เพราะวิธีเคมีนั้นง่ายกว่านั่นเอง 

แต่เมื่อเราอยากเป็นอีกแรงในการสนับสนุนชาวนาอินทรีย์ในพื้นที่ภาคกลาง การอุดหนุนข้าวหอมปทุมธานี1 ที่ปลูกได้ดีในดินร่วนซุยภาคกลาง พร้อมโตทุกฤดูแบบข้าวนาปรังที่พึ่งน้ำแบบนาชลประทาน ข้อดีของข้าวพันธุ์นี้ คือความนุ่ม และกลิ่นหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ ยิ่งในช่วงข้าวใหม่ต้นฤดูจะยิ่งหอมเป็นพิเศษ แต่ราคาไม่สูงมาก เป็นอีกทางเลือก และเป็นอีกส่วนผสมที่ให้ข้าว 5 สายพันธุ์ศาลานา ได้อุดหนุนเกษตรกรหลากหลายพื้นที่

และข้าวหอมปทุมธานี1 ศาลานา มาจากศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิจิตร กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลคลองนกกระทุง และศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ นครปฐม

ข้าว กข43 
ข้าวดีชอบน้ำ เพิ่มเพื่อนชาวนาอินทรีย์ภาคกลางให้ปลูกมากขึ้น


อีกข้าวดีจากผืนนาชลประทานภาคกลางที่น่าสนับสนุน หากว่ากันในแง่ประโยชน์ ข้าว กข43 จะนุ่ม เคี้ยวอร่อย ยังมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับคนเป็นเบาหวาน และข้อดีที่ตอบโจทย์เกษตรกรภาคกลาง คือ ข้าวพันธุ์นี้ปลูกได้ทุกฤดู ต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดด ลดปัญหาวัชพืชระบาดในนาข้าว และด้วยอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 95 วัน จึงปลูกแบบอินทรีย์ได้ดี ชวนเพื่อนชาวนามาเพิ่มผลผลิตที่ปลอดภัยต่อคนกินและสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น

ข้าว กข43 ศาลานา มาจากศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิจิตร และศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ นครปฐม

สั่งข้าวอินทรีย์จากดินดี ๆ ของศาลานาได้ที่ https://www.salana.co.th/order.php

 



เรื่องที่น่าสนใจ

แจกสูตรข้าวปั้นสายรุ้งสูตรเจ แก้คิดถึงเกาหลี ดีต่อสุขภาพด้วย

พลัสสารอาหารดี ๆ ให้มื้อที่อยากกินน้อย จับคู่เครื่องดื่มข้าว Antho-PLUS+ กับอะไรดี

“จงใช้อาหารเป็นยารักษาโรค” คือปรัชญาในการรักษาโรคที่ฮิปโปเครติส บิดาทางการแพทย์ของชาวกรีกกล่าวไว้มานานกว่า 2500 ปี

ผู้บริโภคอย่างเรา มีพลังแค่ไหนในการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์?

Put the RICE menu to the RIGHT mom คนกำลังท้องกำลังไส้ เลือกกินข้าวอย่างไร ให้เหมาะกับระยะครรภ์