Responsive image Responsive image

มาตรฐานข้าว Salana PGS คืออะไร?

17 มิถุนายน 2564

มาตรฐาน Salana PGS ข้างถุงข้าว บอกอะไรเราบ้าง?

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย เหตุผลว่าอยากสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ หรืออยากเป็นอีกแรงที่ช่วยลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ทำให้ผู้บริโภค เริ่มให้ความสนใจกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมองหาตราสัญลักษณ์ หรือ Organic Certification ต่าง ๆ ที่บอกเรา ว่าสินค้าเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดจากหน่วยงานรับรองสินค้าอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นตราสากล อย่าง IFOAM ตราของกลุ่มประเทศต่าง ๆ เช่น สหภาพยุโรป (EU) ของสหรัฐอเมริกา (USDA) ของประเทศญี่ปุ่น (JAS) หรือ Organic Thailand ก็ตาม แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้ คือกว่าที่เกษตรกรจะได้รับตรามาตรฐานเหล่านั้น จะต้องผ่านขั้นตอนที่ยืดหยุ่นต่ำ และใช้เงินจำนวนไม่น้อย ทำให้เกษตรกรจำนวนมากที่ทำฟาร์มตามมาตรฐานอินทรีย์ทุกประการ แต่กลับไม่มีตรารับรอง เพราะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีทุนมากนัก 

อีกทางเลือกที่จะรับรองมาตรฐาน และช่วยตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน คือ ระบบชุมชนรับรอง หรือ Participatory Guarantee Systems (PGS) ที่ไม่ฝากไม้บรรทัดไว้กับ Third Party หรือหน่วยงานอิสระ แต่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ตั้งแต่การกำหนดกฎเกณฑ์ไปถึงการตรวจรับรอง โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม องค์กรผู้ผลิต และผู้ซื้อ ซึ่งหมายถึงคนกินอย่างเรา ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และเรียนรู้กระบวนการไปพร้อม ๆ กัน



Salana PGS คืออะไร?

เพราะปัญหาการเข้าไม่ถึงมาตรฐานอินทรีย์ของเกษตรกรที่มีความตั้งใจทำให้การทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเป็นไปได้ยาก Salana จึงนำระบบ PGS มาปรับใช้ สร้างเป็นระบบชุมชนรับรองจากโครงการศาลานา ที่ออกแบบข้อกำหนด และเงื่อนไขในการผลิตของเกษตรกร รวมทั้งสร้างระบบนิเวศ ทั้งการให้ความรู้ การตรวจสอบ การมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับผู้ผลิต ไปจนถึงปลายทางอย่างผู้บริโภค ช่วยดูแลเกษตรกรในระยะปรับเปลี่ยนจากนาเคมีมาสู่นาอินทรีย์ และไกด์เกษตรอินทรีย์หน้าใหม่ ให้ปรับปรุงแปลงให้ได้มาตรฐานที่ผ่านการรับรองได้ รวมถึงตรวจสอบระหว่างทางของเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ว่ายังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยอย่างไม่ย่อหย่อน

นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรอินทรีย์รายย่อยได้ทำอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้คนกิน ว่าข้าวของศาลานาปลอดภัย มีมาตรฐานเดียวกัน และถ้าหากผู้บริโภคคนไหนอยากยกมือลงแปลงด้วยกัน ก็สามารถสอบถามเพื่อเข้าร่วมดูระบบการผลิตภายในแปลงของเกษตรกรได้ด้วย 

กว่าจะได้ตรานี้ เขาลงไปตรวจตรากันอย่างไร?

เล่าคร่าว ๆ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ โครงการจะต้องตรวจเยี่ยมระบบการผลิตทุกขั้นตอนของเกษตรกรที่สมัครเข้ามา เพื่อให้ได้ทราบข้อกำหนดและข้อผูกพันในการเป็นผู้ผลิตอินทรีย์ร่วมกัน จากนั้น จะได้รับประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหากยังไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะให้ความรู้ เพื่อพัฒนากระบวนการเพาะปลูกสู่ความเป็นอินทรีย์ต่อไป 

โดยข้อกำหนดใหญ่ ๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญ ก็เช่นเกษตรกรต้องมีระยะปรับเปลี่ยนจากเคมีสู่อินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1 ปี ห้ามใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือสารเคมีทางการเกษตรในฟาร์มโดยเด็ดขาด ต้องมีความหลากหลายของระบบนิเวศภายในฟาร์ม มีระบบจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ห้ามใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMOs มีแนวกันชนหรือกันลมที่สูงกว่าแปลงค้างเคียง และมีระยะห่างจากแปลงเคมีไม่น้อยกว่า 1 เมตร ห้ามมีการเผาในแปลง เพื่อรักษาสมดุลของดินและระบบนิเวศ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง ต้องไม่ปะปนกับผลผลิตที่เป็นเคมี เป็นต้น

เมื่อผูกข้อไม้ข้อมือร่วมกลุ่มเดียวกันแล้ว ก็จะมีการลงไปตรวจแปลงตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย มั่นใจว่าปลอดเคมี และยืนยันว่าเกษตรกรได้ช่วยดูแลคืนสมดุลให้ระบบนิเวศตามหลักอินทรีย์ไปพร้อม ๆ กัน 
ซึ่งหากเกษตรกรคนไหนละเมิดมาตรฐาน ก็จะไม่สามารถขายผลผลิตให้โครงการตลอดช่วงระยะเวลาที่ถูกลงโทษ และยึดใบรับรองความเป็นอินทรีย์ของเกษตรกรรายนั้น เพื่อให้ความเข้มข้นของมาตรฐานยังคงความน่าเชื่อถืออยู่นั่นเอง

แม้จะเป็นการตอบคำถามที่ยาวเหยียดไปสักหน่อย แต่เมื่ออ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็คงพอทราบแล้วว่า มาตรฐาน Salana PGS ข้างถุงข้าว บอกเล่ามาตรฐานที่เข้มข้น และความไว้วางใจที่เราแชร์กัน ระหว่างคนปลูก คนขาย คนกิน และสิ่งแวดล้อม



เรื่องที่น่าสนใจ

เติมขุมพลังให้คนวัยทำงาน ด้วยการเลือกกินข้าวดี ๆ ของศาลานา

หลายคนอาจรู้สึกว่าข้าวซ้อมมือกินยาก ด้วยสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ มีรสสัมผัสและความหนุบหนับที่ไม่คุ้นปาก

เพราะชีวิตมีเรื่องยาก ๆ เยอะแล้ว มาทำเรื่องหุงข้าวให้เป็นเรื่องง่าย ๆ กันดีกว่า

ดื่ม ‘ข้าว’ กันไหม? จากวัฒนธรรมดื่มน้ำข้าว สู่นวัตกรรมชงดื่มง่ายเพื่อผู้สูงวัย