Responsive image Responsive image

ยิ่งแก่ยิ่งเข้ม ยิ่งสูงวัย ทำไมยิ่งต้องกินข้าวสีเข้มๆ

25 กุมภาพันธ์ 2564

กินข้าวขาวอย่างเดียวมันธรรมดาไป! ทุกวันนี้เราเชื่อว่าแทบทุกบ้านมีข้าวสารหลากสีไว้ติดครัว ไม่ว่าจะข้าวขาว ข้าวน้ำตาล ข้าวแดง ข้าวม่วงดำ เพราะการกิน ‘ข้าวสี’ กำลังเป็นเทรนด์ที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ แถมคุณประโยชน์ของข้าวที่มีสี มันช่างเหมาะเจาะกับสุขภาพและร่างกายของผู้สูงวัย 



ข้าวสีมีกี่แบบ และแตกต่างจากข้าวขาวยังไง

สีของข้าว คือรงควัตถุหรือสารสีที่สะสมอยู่บนเปลือกหรือรำข้าว ดังนั้น ทำความเข้าใจกันก่อนว่าเมื่อพูดถึง ‘ข้าวสี’ แปลว่าเรากำลังพูดถึง ‘ข้าวกล้อง’ ที่ยังไม่ผ่านการขัดเอาส่วนของจมูกและเปลือกข้าวออกไปนั่นเอง โดยรำข้าวในธรรมชาติจะมีอยู่ 3 เฉดสี คือสีน้ำตาล สีแดง และสีม่วงดำ ถ้าจับข้าวสีต่าง ๆ มาเรียงไล่เฉดกันแล้วอธิบายง่าย ๆ จะเป็นดังนี้

ข้าวขาว คือข้าวที่ถูกขัดสีออกไปจนไม่มีจมูกและรำข้าวหลงเหลืออยู่ ดังนั้น สารอาหารที่สะสมอยู่จึงน้อยกว่า แต่นุ่ม ทานง่าย และให้พลังงาน 
ข้าวสีน้ำตาล คือข้าวกล้องที่มีสารสีน้ำตาลอ่อนซึ่งไม่ได้ถูกขัดสี ยังมีทั้งจมูกและรำข้าวห่อหุ้มเมล็ด จึงมีประโยชน์และวิตามินสะสมอยู่สูงกว่าข้าวขาว ข้าวในกลุ่มสีน้ำตาลนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมปทุมเทพ ฯลฯ
ข้าวสีแดง คือข้าวที่มีสารสีแดงในกลุ่มแคโรทีน ซึ่งนอกจากให้สีแล้ว ยังบำรุงสายตาและผิวพรรณ ช่วยชะลอความแก่ ข้าวในกลุ่มสีแดงนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวมันปู ฯลฯ
ข้าวสีม่วงดำ คือข้าวสีเข้มที่สุด เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสีม่วงดำชื่อ ‘แอนโทไซยานิน’ ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV มาทำลายข้าวขณะกำลังเติบโตได้ ทำให้ข้าวสีม่วงดำมีสารอาหารสะสมอยู่มากกว่าข้าวสีอื่นๆ ข้าวในกลุ่มสีม่วงดำนี้ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลินิลสุรินทร์ ฯลฯ จึงเหมาะกับผู้สูงวัยมากที่สุด

‘แอนโทไซยานิน’ ในข้าวสีม่วงดำ ดีกับผู้สูงวัยยังไง

แอนโทไซยานินคือสารสีเข้มที่มีในข้าวสีม่วงดำ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้แสงอัลตราไวโอเลต (UV) ผ่านเข้ามาทำลายสารอาหารที่เป็นประโยชน์และไวต่อแสง ทำให้เมล็ดข้าวสีม่วงดำมีสารอาหารสะสมอยู่มากกว่าและยาวนานกว่าในข้าวขาว จึงมีประโยชน์กับผู้สูงวัยที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หรืออยากดูแลตัวเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้ายต่าง ๆ

มีสารต้านมะเร็งมากกว่าข้าวสีอื่น 3-10 เท่า พบสารต่อต้านมะเร็งปริมาณ 3-10 เท่าของที่พบในข้าวกล้องทั่วไป และมีงานวิจัยว่าหากได้ทานจมูกและรำข้าวเฉดสีในปริมาณร้อยละ 10 ของปริมาณสารอาหารที่ได้รับทั้งหมดในหนึ่งวัน จะมีกลไกช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เพิ่มกระบวนการตายของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น

เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส เพราะข้าวสีมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าข้าวขาวและข้าวกล้องสีน้ำตาลทั่วไป มีกรดแอมิโนชนิดไลซีนและเมไทโอนีนสูงกว่าโปรตีนจากข้าวกล้องขาว โปรตีนจะถูกย่อยเป็นเปปไทด์ ต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์ ออกฤทธิ์เชิงป้องกันโรค และไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้

มีใยอาหารมากกว่าข้าวขาว 4 เท่า มีพรีไบโอติกและพบสารโพรไบโอติกกลุ่มบีตากลูแคน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานในคน รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่หลายชนิดซึ่งเพิ่มการเผาผลาญสารอาหารให้กับร่างกาย ซึ่งสารเหล่านี้จะหายไปในกระบวนการขัดสีหรือการเตรียมข้าวสีขาว ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดีและมีความสุขจากภายในสู่ภายนอก

มีสารช่วยลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลที่ลำไส้เล็ก สารแกมมาออไรซานอลเป็นสารสำคัญที่พบมากในสารสกัดข้าวเฉดสี ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่ลำไส้เล็ก และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด

มีวิตามินและเกลือแร่ เพิ่มการเผาผลาญ บำรุงสมองและสายตา มีการสะสมบีตาแคโรทีนและลูทีน ซึ่งไม่พบในข้าวขาวทั่วไป และยังพบวิตามินบี 1 บี 2 บี 3 และ บี 9 ในปริมาณที่สูงโดยเฉพาะในกลุ่มโฟเลต และวิตามินอี 

ช่วยชะลอวัย บำรุงผิวพรรณจากภายใน เพราะมีสารสฟิงโกลิพิด ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของออไรซาไมด์ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและยับยั้งการเกิดเมลานินในผิวชั้นใน และมีโปรตีนไฮโดรไลเซต ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางอีกด้วย

ผู้สูงวัยคือกลุ่มคนที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้ายที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ เราจึงอยากชวนให้หันมากินข้าวสีม่วงดำที่มีแอนโทไซยานิน ไม่ว่าจะหุงข้าวสวยมะลินิลสุรินทร์หอม ๆ ทาน หรือจะดื่มในรูปแบบของเครื่องดื่มชงร้อนยามเช้าจากข้าวอินทรีย์ ของ Antho-PLUS+ ที่ผสมแอนโทไซยานินจากข้าวสีเข้ม ก็ดีกับร่างกายไม่ต่างกัน

ชวนเหล่า สว. (สูงวัย) ใกล้ตัว มากินข้าวสีม่วงดำกันนะ 

 



เรื่องที่น่าสนใจ

วิธีหุงข้าวให้หอมนุ่มตามหลักกินอยู่แบบแมคโครไบโอติกส์

ผู้บริโภคอย่างเรา มีพลังแค่ไหนในการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์?

รู้จักแอนโทไซยานิน สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ที่ซุกซ่อนอยู่ในข้าวสีเข้ม

อยากเป็นคุณแม่ครรภ์แข็งแรง! เสริมโฟเลตธรรมชาติด้วยการกินข้าว 5 สายพันธุ์

‘เก็นไมฉะ’ ได้ชื่อว่าเป็นชาที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์จนถึงกับมีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า ‘ชาป๊อปคอร์น’ เพราะกลิ่นหอมที่ว่านั้นได้มาจากกลิ่นของข้าวคั่วที่นำไปผสมกับใบชา