ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน ไล่เรียงกระบวนการสีข้าวดี จากโรงสีศาลานา
16 เมษายน 2563
ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน
ไล่เรียงกระบวนการสีข้าวดี จากโรงสีศาลานา
ปลูกข้าวดี แล้วต้องไปสีที่ไหน?
คำถามนี้อาจจะไม่ค่อยเกิดกับผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายน้ำของวงจรการปลูกข้าวสักเท่าไหร่ แต่สำหรับชาวนาอินทรีย์ นี่เป็นคำถามหลักที่พวกเขาต้องหาคำตอบ ก่อนที่จะลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงสู่ผืนดิน เพราะนอกจากโรงสีข้าวอินทรีย์ขนาดเล็กของเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันตามชุมชน เมืองไทยยังมีโรงสีข้าวอินทรีย์อยู่ค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก
และในท่ามกลางจำนวนที่นับที่ว่าน้อยนั้น โรงสีข้าวของบริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด หรือ โรงสีข้าวศาลานา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองโยง จังหวัดนครปฐม คือหนึ่งในคำตอบของชาวนาอินทรีย์ที่จับมือร่วมกับศาลานาในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรอินทรีย์ และร่วมกันผลักดันให้ผลผลิตที่ปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ผ่านข้าวอินทรีย์แบรนด์ ‘ศาลานา’
ด้วยความตั้งใจในการพัฒนาภาคเกษตรของเมืองไทย โดยนำบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ที่เข้มแข็งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและเป็นแรงผลักดันให้การตลาดเชิงอินทรีย์ขยายตัวและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในวิถีอินทรีย์ไปพร้อม ๆ กัน โดยศาลานาเริ่มต้นจากพืชอาหารที่สำคัญของประเทศไทยและโลกก่อน ซึ่งก็คือข้าวที่เรากินกันอยู่ทุกวันนั่นเอง
และที่โรงสีศาลานาแห่งนี้ ก็เปรียบเป็นจุดศูนย์กลางที่รวบรวมเอาผลผลิตอินทรีย์จากเกษตรกรซึ่งเป็นภาคีเครือข่าย ก่อนจะแปรรูปด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสม ผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์เรื่องความอร่อยและสุขภาพของคนกิน แล้วบรรจุถุงกลายเป็นแบรนด์ศาลานาที่จะเดินทางต่อไปยังจานข้าวของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ
และในฐานะคนกิน, เราอยากรู้ว่าข้าวหอมฟุ้งที่อยู่ในจานเดินทางผ่านอะไรมาบ้าง จึงขอเคาะประตูโรงสีศาลานามาดูกระบวนการกันจะจะ
ข้าวมาจากไหน?
ข้าวอินทรีย์จากแปลงต่างๆ ของภาคี อันได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง หมู่ 17 ยโสธร, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ สุรินทร์, มูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี, มูลนิธิจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์, ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิจิตร, วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนด ชุมชนคลองโยง ลานตากฟ้า, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลคลองนกกระทุง, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.แหลมบัว), กลุ่ม Young Smart Farmer นครปฐม และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉ้ตร ลำปาง
ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นข้าวที่มีมาตรฐาน SALANA PGS หรือกระบวนการรับรองที่กลุ่มเกษตรกรมีส่วนร่วมและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองแปลงร่วม กันทั้งระยะเตรียมปลูก บำรุง และก่อนการเก็บเกี่ยว ในทุกรอบการผลิต โดยข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ศาลานารับซื้อได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และ ข้าวหอมช่อราตรี ถามว่าทำไมต้องเป็นข้าวหอมทั้ง 5 สายพันธุ์นี้ ก็มาจากการทดลองและวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าเป็นข้าวดีที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก และมีคุณประโยชน์สูงที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในแง่สุขภาพและความอร่อย
สุ่ม ‘ก่อน’ สี
เมื่อข้าวทุกล็อตที่ส่งมาถึงโรงสีศาลานา แม้จะมั่นใจในระบบมาตรฐานการรับรอง SALANA PGS แล้ว ก็ยังต้องผ่านกระบวนการสุ่ม ทดสอบ คัดกรองให้เรียบร้อยก่อนทุกครั้ง ด่านแรกหลังจากได้คือการสุ่มตรวจเพื่อวัดเปอร์เซ็นต์ความชื้นของข้าวก่อน เพราะถ้าข้าวที่ส่งมามีความชื้นสูงเกินไป จะทำให้เมล็ดข้าวเกิดเชื้อรา หรือถ้ามีความชื้นต่ำเกินไปเมื่อนำมาเข้ากระบวนการสี กลายเป็นข้าวที่ไม่เต็มเมล็ดได้ โดยการสุ่มตรวจนั้นจะสุ่มจากบางกระสอบที่ส่งมา อาทิ มี 5 กระสอบ ก็จะสุ่มมา 1 กระสอบ แล้วมาหาค่าเฉลี่ยค่าความชื้นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือเปล่า โดยจะต้องอยู่ที่ 12 - 15%
หลังจากนั้นเข้าสู่การทดสอบการสีเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของข้าวต้น หรือข้าวที่เต็มเมล็ดว่ามีถึง 35% หรือไม่ ด้วยเครื่องสีขนาดเล็กซึ่งสีได้ราว ๆ 1 กิโลกรัม ถ้าสีแล้วพบว่ามีข้าวที่ไม่เต็มเมล็ดหรือข้าวหัก ทางศาลานาก็จะไปช่วยดู ช่วยวิเคราะห์กับชาวนาว่าสาเหตุมาจากอะไร เพื่อให้ครั้งต่อไปชาวนาได้ข้าวที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นในอีกทางหนึ่งด้วย
และขั้นตอนต่อไป ก็เป็นการตรวจสอบสิ่งเจือปน อาทิ กรวด เศษฟาง ดอกหญ้า โดยตามมาตรฐานจะต้องไม่เกิน 1 2% ซึ่งถ้าเกินจากนั้นก็จะมีการหักลบกับน้ำหนักที่ชั่งไว้ตอนแรก และสุดท้ายคือการคัดเมล็ดข้าว ว่ามีสีเหลืองกี่เปอร์เซ็นต์ ตามกฎหมายเกษตรจะต้องไม่เกิน 1% ส่วนข้าวเมล็ดท้องไข่ จะต้องมีไม่เกิน 7% ใครที่สงสัยว่าข้าวท้องไข่คืออะไร ก็คือข้าวที่มีลักษณะเป็นเม็ดสีขุ่น ๆ ในเนื้อข้าว เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แป้งระหว่างการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ แม้ว่าจะไม่ใช่ข้าวเสีย แต่ทำให้เมล็ดดูไม่สวยงามน่ากินตามความนิยม
‘สี’ ที่ต่างกัน
ตามโรงสีใหญ่ ๆ ทั่วไปที่สามารถสีข้าวได้ทีละจำนวนมาก ๆ มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเมล็ดข้าวเสียหายหรือมีสิ่งเจือปนเยอะ ด้วยเครื่องที่ใช้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ทั้งการเป่าลม การยิงเลเซอร์ หรือเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมทั้งยังสามารถขัดให้เมล็ดข้าววาวสวยดูน่ากิน แต่โรงสีใหญ่ ๆ มักจะรับสีแต่ข้าวเคมีเป็นหลัก เพราะถ้ารับสีข้าวอินทรีย์ด้วยจะต้องล้างเครื่องสีข้าวก่อนทุกครั้งด้วยการสีข้าวปริมาณมาก ยิ่งเครื่องขนาดใหญ่ ก็ยิ่งต้องใช้ปริมาณข้าวที่ต้องล้างเครื่องเยอะเข้าไปใหญ่
ในขณะที่เครื่องสีข้าวของศาลานาเป็นเครื่องสีขนาดเล็กที่สีเฉพาะข้าวอินทรีย์เท่านั้น กำลังการผลิตสามารถสีข้าวสารได้วันละ 1,000 – 1,500 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 40- 50% ที่เหลือเป็นข้าวหัก รำ และแกลบ โดยสามารถสีเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ (ขัดเล็กน้อย) และข้าวขัดขาว ได้ ซึ่งข้าวศาลานาจะสีเป็นขัดขาวในระดับปานกลาง เพื่อให้ผู้บริโภครับประทานได้ง่ายกว่าข้าวซ้อมมือ และยังได้รับวิตามินที่อยู่ในรำและจมูกข้าวได้ด้วย
วันเดียวจบ-สัปดาห์เดียวส่ง
หลังจากได้ข้าวที่สีมาเสร็จเรียบร้อย ข้าวยังต้องผ่านกระบวนการคัดกรวด และขนาดก่อนเข้าเครื่องเพื่อทำการยิงสี เพื่อคัดสิ่งเจือปนอย่างเมล็ดพืชอื่น ๆ ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน ข้าวเมล็ดท้องไข่ หรือข้าวเปลือกที่อาจติดมา และนำมาคัดด้วยมืออีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าได้ข้าวที่ไม่มีสิ่งเจือปนจริง ๆ ก่อนบรรจุใส่ถุง ชั่งน้ำหนัก แล้วก็แพ็คสุญญากาศพร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งทั้งกระบวนการต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งวัน และสิ่งสำคัญของโรงสีศาลานาคือการไม่การสต็อกข้าวเกิน 7 วัน อธิบายง่าย ๆ คือเมื่อมีออเดอร์ก็ค่อยทำการสีข้าวเพื่อให้ได้ข้าวที่ใหม่ที่สุด คงความหอมและอร่อยได้มากกว่า ทั้งยังลดปัญหาเรื่องการเกิดมอดหรือแมลง ซึ่งเป็นอีกจุดที่แตกต่างกับโรงสีขนาดใหญ่ที่ต้องมีการเก็บสต็อกข้าวไว้นาน ๆ ทำให้จำเป็นต้องมีการรมยาเพื่อให้ข้าวไร้มอดแมลงมากวนใจได้นานถึง 2-3 ปี แต่ก็แลกกับความหอมที่หายไป หรือการใช้กลิ่นสังเคราะห์แทนนั่นเอง
มากกว่าโรงสี
โรงสีหนึ่งโรงมีหน้าที่สีข้าว แต่โรงสีข้าวอินทรีย์ศาลานามีหน้าที่ที่มากกว่านั้น เพราะการจับมือผูกโยงกันก็เป็นดั่งหลักประกันที่ทำให้เกษตรกรอินทรีย์ด้วยการตกลงซื้อ - ขาย ข้าวเปลือกอินทรีย์ล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขความเป็นธรรมด้านราคา และคุณภาพตามแนวคิด Community Supported Agricuture โดยเกษตรกรจะสามารถจะได้รู้ว่าต้องวางแผนปริมาณการผลิตไว้แค่ไหน ต้องดำเนินการอย่างไรให้ได้ตามมาตรฐานกลุ่มที่วางไว้ร่วมกัน ช่วยดูช่วยแลตั้งแต่พันธุ์ข้าว การปลูก การดูแล ไปจนถึงการตากข้าวเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ศาลานายังช่วยเป็นโค้ชให้เกษตรกรอินทรีย์เป็นผู้ประกอบการที่สามารถขายข้าวที่ดีในราคาที่ดี ไม่ต้องโดนตัดราคาจากระบบตลาดแบบเดิม ๆ อีกด้วย
โรงสีข้าวอินทรีย์จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับชาวนาเกษตรอินทรีย์ และเป็นประกายความหวังสำหรับชาวนาที่อยากเปลี่ยนแปลงและเริ่มต้นใหม่ในวิถีที่ปลอดภัยกับคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ก็ได้สบายใจในคุณภาพและความปลอดภัย และรู้ว่าทั้งกระบวนการ มาจากการจัดการที่เป็นธรรมและยั่งยืน
ทั้งหมดนี้ จะร่วมสร้างพลังของการแบ่งปัน ที่ทำให้เมืองไทยได้เป็นเจ้าของประโยค ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว (ปลอดภัย)’ อย่างแท้จริง
--
เรื่องและภาพ: มานู สะตี
เรื่องที่น่าสนใจ
รู้จักแอนโทไซยานิน สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ที่ซุกซ่อนอยู่ในข้าวสีเข้ม
วิธีกินอย่างพอดี เมื่อเป็นเบาหวาน
พระสงฆ์สุขภาพดีได้ ด้วยอาหารที่ถวายตามโภชนาการ
ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง !
มาตรฐาน คือ สิ่งยืนยันและรับรองคุณภาพของสินค้า ของที่ดี จะต้องมีมาตรฐานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จับต้องได้ ตรวจสอบได้ และได้รับการยอมรับร่วมกัน