Responsive image Responsive image

ถามหา ประชาธิปไตยในจานข้าว?

20 มิถุนายน 2562



ถามหา ประชาธิปไตยในจานข้าว?
ทำไมอำนาจในการตัดสินใจ ‘เลือก’ กินข้าว ต้องอยู่ในมือประชาชน


การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยพลัง แต่เรามักรอคอยพลังจากผู้มีอำนาจ และกลับมองข้ามพลังของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย ตัวอย่างชัดที่สุดไม่ต้องมองไปไหนไกล หันมองใกล้ ๆ แค่ในจานข้าวของเราเองก่อน 



เรากินข้าวอะไรกันอยู่?

‘ข้าวไม่มีหัวนอนปลายตีน’ คือคำเปรียบเปรยอันรุนแรงแทงใจ ที่ อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ อธิบายง่าย ๆ ก็คือคนไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนเมือง แทบจะไม่มีโอกาสได้กินข้าวดี ๆ เพราะข้าวที่เข้าถึงได้ง่ายในท้องตลาด คือข้าวถุงที่ผ่านระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเราไม่อาจมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยจากสารเคมีได้เลย

ขณะเรากินข้าวที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนอยู่ทุกวัน ชาวนาก็กำลังเผชิญปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำลง แม้จะหันมาปลูกข้าวเชิงเดี่ยวเพื่อขายเน้นปริมาณแล้วก็ยังเท่าทุน หรือขาดทุนอยู่ดี ส่วนชาวนาที่คิดจะหันมาปลูกข้าวอินทรีย์คุณภาพดีก็มี แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย บ้างก็ยอมแพ้ไปเพราะไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน บ้างก็ตัดใจขายที่นาเพื่อเอาตัวรอด

เรากินข้าวที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนอยู่ทุกวัน เพราะเราไม่ได้รับโอกาสที่จะเลือก เพราะเราไม่มีทางเลือก หรือเพราะเราไม่รู้ตัวว่าการ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ ของเรา มีพลังมากกว่านั้น



เมื่อประชาธิปไตยในจานข้าว อยู่ในมือเรา

เหตุผลที่เราไม่มีประชาธิปไตยในจานข้าว ไม่ใช่เพราะเราไม่มีข้าวดี ๆ ให้เลือก แต่เพราะเราคิดว่าเราไม่เกี่ยวข้องกับปัญหา เราไม่รู้ว่าการเลือกกินข้าวของเรามี ‘พลัง’ ไม่ต่างอะไรการออกไปหย่อนบัตรใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้บริโภคอย่างเราส่งผลเชื่อมโยงโดยตรงกับคนปลูกมากกว่าที่คิด 

เรามีสิทธิ์เลือกกินข้าวดี...เพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีอิสรภาพในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว และวิถีการผลิตที่ไม่ต้องผูกขาดกับบริษัทขนาดใหญ่ ชาวนาไม่ต้องเปลี่ยนไปทำนากุ้ง หรือขายที่นาเพื่อหนีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

เรามีสิทธิ์เลือกกินข้าวดี...เพื่อที่จะช่วยให้บริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่ปรับตัว ผู้บริโภคในเมืองมีทางเลือกมากกว่าเดิม ไม่ต้องกินข้าวถุงแบบเดียวที่มีขายในท้องตลาด

เรามีสิทธิ์เลือกกินข้าวดี...เพื่อที่คนกินจะได้มีอิสรภาพในการเลือก ได้กินข้าวดีต่อสุขภาพ และมีความอร่อยที่หลากหลาย ไม่ใช่กินข้าวอะไรอยู่ก็ไม่รู้อย่างทุกวันนี้ เพราะการเลือกตักอาหารเข้าปากแต่ละคำ มีค่าไม่ต่างกับการหย่อนบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ 



อิสรภาพของคนกิน เริ่มต้นที่ตรงไหน?

ถ้าคนเมืองช่วยกันแสวงหาช่องทางในการเข้าถึงข้าวอินทรีย์ มองหาตลาดสีเขียวทั้งขนาดเล็กและใหญ่กระจายตัวอยู่ทั้งในเมืองกรุงและต่างจังหวัด รู้แล้วก็ช่วยกันบอกต่อ เราจะเห็นว่ามีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่กำลังปรับตัว ผู้คนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายอินทรีย์ ผูกปิ่นโตร่วมกับชาวนา หรือแม้กระทั่งองค์กรเล็ก ๆ ที่ลงไปรับข้าวจากเกษตรกรมาช่วยขาย 

ถ้าคนเมืองเข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนไลฟ์ไตล์ของเรา ผูกโยงกับการอยู่รอดของชาวนาที่ปลูกข้าวดี เราก็จะมีโอกาสได้ทำความรู้จัก พูดคุยกับชาวนารายเล็ก ๆ หาวันว่าง ๆ ไปเที่ยวนาอินทรีย์ที่บ้านเขา ไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวนา เราก็จะเข้าใจถึงชีวิตที่เชื่อมโยงกันระหว่างคนปลูกและคนกิน และจะรับรู้ว่าพลังของผู้บริโภคนั้นช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตได้แค่ไหน

แต่ถ้าคิดว่าเราไม่เกี่ยว ถ้าเราไม่คิดว่าการเลือกกินข้าวคือหน้าที่ของประชาชน เราอาจจะต้องกินข้าวไม่มีหัวนอนปลายตีนตลอดไป และโลกของการกินที่ประชาชนเป็นใหญ่ การกินที่ประชาชนมีอิสรภาพ ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น

ไม่ต่างอะไรกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยเลยล่ะคุณ…
-------------------
ที่มาข้อมูล: รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-------------------
เรื่อง: สลิลา มหันต์เชิดชูวงศ์



เรื่องที่น่าสนใจ

เห็นสีและชื่ออาจดูคล้าย ๆ กัน แต่จริง ๆ แล้ว น้ำซาวข้าว น้ำข้าว และเครื่องดื่มข้าว มีความแตกต่างกันนะ

เคยเป็นเหมือนกันไหม จะหุงข้าวแต่ละทีแล้วไม่มั่นใจ ควรใส่น้ำแค่ไหน และใช้อะไรเป็นตัววัด ถึงจะได้ข้าวนุ่มสวยพร้อมกิน

เบลนด์ข้าวอย่างไรให้อร่อย สุก และสุขทั่วกันทั้งคนปลูกคนกิน

โลกใบนี้มีเรื่องให้เด็ก ๆ เรียนรู้มากมาย ตั้งแต่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้อย่างไร