Responsive image Responsive image

อุ่นข้าวด้วยไมโครเวฟ แบบสายเนิร์ดและสายอุปกรณ์!

20 มกราคม 2566

อุ่นข้าวด้วยไมโครเวฟ แบบสายเนิร์ดและสายอุปกรณ์!
ชุบชีวิตข้าวแห้ง ๆ ในตู้เย็น ให้กลับมานุ่มเหมือนเพิ่งหุงเสร็จ
 
ทำยังไงให้ข้าวสวยที่แช่เก็บไว้ในตู้เย็น กลับมานุ่มอร่อย พร้อมกิน?
 
ไม่ใช่ทุกบ้านที่หุงข้าวแล้วกินหมดหม้อในมื้อเดียว และเชื่อว่ามีหลายคนเลยล่ะ ที่ตั้งใจหุงข้าวเพื่อแบ่งใส่ตู้เย็นไว้กินหลาย ๆ มื้อ ดังนั้น ปัญหาคลาสสิกที่หลายคนประสบร่วมกันก็คือ ข้าวสวยที่ตั้งใจเก็บไว้กินมื้อถัดไป อุ่นเท่าไหร่ก็ไม่นุ่ม ไม่อร่อยเท่ามื้อแรกที่กินสักที
 
นักกินข้าวอย่างเรา จะให้ทำใจกินข้าวแห้ง ๆ แข็ง ๆ มันทำไม่ได้! จึงแอบเข้าครัว ‘ทดลองอุ่นข้าวด้วยไมโครเวฟ’ หาวิธีชุบชีวิตข้าวเย็นให้กลับมานุ่มอร่อยเหมือนตอนหุงเสร็จใหม่ ๆ ด้วยวิธีของสายบู๊ สายบุ๋น และสายอุปกรณ์!
 
อุ่นข้าวให้อร่อยต้องใช้ความแรงไฟแค่ไหน ระยะเวลานานเท่าไหร่ และสารพัดเทคนิคอย่างน้ำส้มสายชู น้ำมัน กระดาษทิชชูชุบน้ำ หรือแม้แต่ใช้กล่องที่ออกแบบมาเพื่อการอุ่นข้าวโดยเฉพาะนั้น ช่วยให้อุ่นข้าวแล้วกลับมานุ่มได้จริงหรือเปล่า มาดูผลการทดลองกัน! 
 


การทดลองอุ่นข้าวในตู้เย็นครั้งนี้ เราเลือกใช้ตัวแปรต้นเป็นข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์
เพราะเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ทุกคนน่าจะมีติดบ้านกันอยู่แล้ว และเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่แท้จริง เราจึงควบคุมตัวแปรต้นให้เหมือนกันในทุกการทดลอง จัดการนำข้าวสวยที่หุงแล้วทานไม่หมดใส่กล่องทัปเปอร์แวร์พลาสติก นำไปแช่ตู้เย็นช่องธรรมดา 24 ชั่วโมง
 
เมื่อครบเวลา เปิดดูผลลัพธ์ที่ได้ พบว่าข้าวสวยที่เคยนุ่มสูญเสียความชื้นไปอย่างเห็นได้ชัด เมล็ดข้าวแห้งและเย็น แต่เนื้อสัมผัสของข้าวไม่ได้แข็งอย่างที่คิด เมื่อลองบี้และชิมก็พบว่าข้าวยังมีความนุ่มอยู่
 


ต้องอุ่นแค่ไหนถึงจะได้ข้าวนุ่มพอใจ
สายเนิร์ดอย่างเรา เลยทดลองหาเวลาที่ชอบ และความร้อนที่ใช่

 
ไมโครเวฟคืออุปกรณ์อุ่นข้าวที่หาได้ง่ายและใกล้ตัวที่สุด ทั้งมนุษย์อยู่บ้านและมนุษย์หอพัก ก่อนจะเริ่มทำการทดลองหาเวลาและความร้อนที่ใช่ในการอุ่นข้าว สายเนิร์ดอย่างเราก็ต้องมีหลักการ กำหนดไว้ว่าตัวแปรต้นที่จะใช้ให้เหมือนกันในทุก ๆ การทดลองก็คือ ข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์หุงสุกที่แช่ตู้เย็นไว้แล้ว 24 ชั่วโมง จำนวน 1 จาน
 
ส่วนตัวแปรตาม คือความแรงของไฟที่ใช้และระยะเวลาในการอุ่น เราจะทดลองอุ่นข้าวด้วยไฟต่ำ (ความร้อนประมาณ 200 วัตต์) ไฟกลาง (ความร้อนประมาณ 500 วัตต์) และไฟสูง (ความร้อนประมาณ 750 วัตต์) ในระยะเวลามาตรฐานที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้กันคือนาน 2 นาที และ 5 นาที
 
สรุปคือเราจะทดลองอุ่นข้าวทั้งหมด 6 จาน คือ ไฟต่ำ-ไฟกลาง-ไฟสูง อย่างละ 2 และ 5 นาที เพื่อเทียบดูผลลัพธ์ว่าความแรงของไฟและระยะเวลาการอุ่น ส่งผลต่อข้าวยังไงบ้าง
 


ผลลัพธ์เป็นแบบนี้
 
เมื่ออุ่นด้วยไฟต่ำนาน 2 นาที ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ข้าวยังแห้งเหมือนเก่า เย็นชืด ไม่มีความร้อน เหมือนไม่เคยได้รับการอุ่นมาก่อน ส่วนการอุ่นด้วยไฟต่ำนาน 5 นาที ทำให้ข้าวเกือบจะอุ่น เมล็ดข้าวยังแข็ง
 
เมื่ออุ่นด้วยไฟกลางนาน 2 นาที ผลลัพธ์ที่ได้คือข้าวนุ่ม ร้อนระอุกำลังดี
แต่ก็ยังไม่นุ่มเท่ากับข้าวหุงสุกใหม่ ขณะเดียวกันเมื่อลองอุ่นด้วยไฟกลางนานขึ้นเป็น 5 นาที ผลลัพธ์ที่ได้คือข้าวร้อนระอุมากขึ้น เนื้อสัมผัสคล้ายคลึงกันมากจนแทบไม่เห็นความต่าง
 
ที่น่าแปลกใจคือจากที่คิดไว้ว่าถ้าใช้ไฟสูงและอุ่นนาน คงทำให้ข้าวนุ่มและร้อนพร้อมกินแน่นอน แต่กลายเป็นว่า เมื่อใช้ไฟสูง 5 นาที กลับทำให้ข้าวแข็งขึ้น บริเวณก้นถ้วยที่โดนความร้อนเยอะ ๆ ก็มีลักษณะเป็นตัง เหมือนเวลาข้าวติดก้นหม้อด้วย
 
ที่ผลลัพธ์ของการอุ่นแตกต่างกัน เป็นเพราะเมื่อคลื่นไมโครเวฟพุ่งไปกระทบกับอาหาร ทําให้โมเลกุลของน้ำ ไขมัน และน้ำตาล ในอาหารสั่นและเสียดสีกันจนเกิดความร้อน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยความร้อนจะเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้น รูปร่าง ปริมาตร และมวลของอาหารที่ใส่เข้าไป ส่วนความแรงของคลื่นจะถูกกำหนดจากความเข้มหรือพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ระดับความแรงไฟและระยะเวลาที่เราใช้อุ่นข้าวจึงสัมพันธ์กัน ไฟต่ำ เวลาน้อย ข้าวที่อุ่นจึงยังไม่ทันเกิดความร้อน ไฟสูง เวลานาน ข้าวก็สูญเสียความชื้นไปจนหมด ทั้งนี้ผลลัพธ์อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามไมโครเวฟที่แต่ละคนใช้ทำการทดลอง
 
เมื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์จากทั้ง 6 จาน พบว่าการอุ่นด้วยไฟกลาง 2 นาที นั้นดีที่สุด แต่ก็ยังไม่ละมุนจนพอใจ ต้องหนีไปพึ่งอุปกรณ์ต่อ…
 


เลียนแบบวิธีในร้านสะดวกซื้อ คลุกน้ำมันให้ทั่วก่อนอุ่นข้าว
 
เบิกตัวอุปกรณ์ผู้ช่วยอย่างแรกที่นำมาทดลอง ได้แก่ น้ำมันพืช
หลายคนอาจเคยรู้ว่าข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อนิยมใส่น้ำมันพืชลงไปเพื่อรักษาคุณภาพข้าวให้คงรูปเดิมแม้นำไปแช่เย็น ทำให้เมื่ออุ่นแล้วข้าวเรียงเมล็ดสวย ไม่เกาะตัวกัน เราจึงทดลองทำตามวิธีนี้บ้าง โดยเทน้ำมัน 1 ช้อนชา คลุกให้ทั่วก่อนนำไปอุ่น จากนั้นก็หมุนไมโครเวฟไปที่ไฟกลาง นาน 2 นาที ซึ่งเป็นเวลาและความร้อนที่เราชอบที่สุด
 
ผลลัพธ์ที่ได้คือข้าวมีความมันเคลือบอยู่บาง ๆ พอให้เห็นความแวว และเรียงเมล็ดสวยจริงตามที่เขาร่ำลือกัน แต่ก็ไม่ช่วยเรื่องความนุ่มเลยสักนิด แถมยังมีข้อควรระวังคือถ้าใช้น้ำมันเก่า จะทำให้ข้าวมีกลิ่นหืน เช็กดูให้ดี ๆ ก่อนนำเทคนิคนี้มาใช้ ไม่งั้นอาจจะต้องสังเวยข้าวให้น้ำมันเก่าไปแบบเรา
 


วิธีโบราณนานมาของเหล่าแม่บ้านทั่วไทย เหยาะน้ำส้มสายชูลงไปไม่ต้องกลัวเปรี้ยว
 
ในเมื่ออุปกรณ์ก่อนหน้าไม่เวิร์ก งั้นขอลองใช้เทคนิคที่มีแต่โบราณนานมาของเหล่าแม่บ้านทั่วไทย เหยาะน้ำส้มสายชูลงไป 3-4 หยด
 
ผลลัพธ์ค่อนข้างน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะทำให้ข้าวคืนรูปกลับมานุ่มฟูเหมือนหุงใหม่ได้จริง แถมไม่มีกลิ่นและรสเปรี้ยวของน้ำส้มสายชูเลยด้วย วิธีนี้เยี่ยม!
 
น้ำส้มสายชูไม่ได้มีดีแค่ช่วยชุบชีวิตข้าวเย็น แต่ยังช่วยให้ข้าวนุ่ม เรียงเมล็ดสวยตั้งแต่ขั้นตอนการหุงข้าว เพราะการเติมกรดลงไปในข้าวส่งผลทำให้คุณสมบัติของแป้งในเมล็ดข้าวเปลี่ยนแปลงไปคือ ทำให้อุณหภูมิการเกิดเจล (gelatinous point) ของแป้งในข้าวนั้นมีค่าต่ำลง เมล็ดข้าวจึงดูดน้ำเข้ามาในโครงสร้างได้ไวขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ข้าวนุ่มนั่นเอง ที่สำคัญความเป็นกรดในน้ำส้มสายชู ยังช่วยทำให้ข้าวบูดช้าด้วยนะ
 


น้อยคนนักจะทำ แม้รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง
พรมน้ำใส่ทิชชู แล้วคลุมข้าวให้มิด

 
ถึงจะเจออุปกรณ์ช่วยชุบชีวิตข้าวแล้ว แต่คนเนิร์ดที่เน้นอุปกรณ์อย่างเรายังไม่พอใจ ขอลองอุปกรณ์ต่อไปอย่าง ทิชชู แม้น้อยคนนักจะใช้วิธีนี้เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยหากต้องวางทิชชูลงไปบนผิวข้าว แต่ก็ขอลองสักหน่อย พรมน้ำใส่ทิชชูให้ชุ่มจากนั้นนำไปคลุมข้าวให้มิด แล้วเอาเข้าไมโครเวฟอุ่นได้เลย
 
ผลลัพธ์ของวิธีนี้ทำให้ข้าวร้อนและมีความชื้นขึ้นนิดหน่อย โดยเฉพาะบริเวณด้านบนที่สัมผัสกับกระดาษทิชชูโดยตรง แต่เนื้อสัมผัสโดยรวมยังเหมือนเดิม ไม่มีความนุ่มขึ้นแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะความชื้นและเวลาที่ใช้อุ่นอาจจะยังไม่มากพอ
 


เพิ่มปริมาณไอน้ำด้วยการอุ่นพร้อมแก้วใส่น้ำใบจิ๋ว
 
แม้การลองเพิ่มปริมาณความชื้นให้การอุ่นข้าวในวิธีที่แล้วจะไม่เวิร์ก แต่เราก็ยังไม่ยอมแพ้ คิดอยู่นานว่าถ้าเพิ่มปริมาณไอน้ำด้วยการอุ่นพร้อมแก้วใส่น้ำใบจิ๋วอาจจะดีกว่าเดิมก็ได้ ในเมื่อมีแหล่งผลิตไอน้ำอยู่ข้างกันเลยนี่นา
 
แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้เศร้านิดหน่อย เพราะข้าวนั้นระอุพอ ๆ กันกับตอนไม่มีแก้วน้ำ เนื้อสัมผัสก็แทบไม่แตกต่างอะไร สรุปได้ว่าวิธีนี้ไม่เวิร์ก
 


คนใน Shopee ว่าดี งั้นเราก็ว่าดี จัดกล่องอุ่นข้าวมาโดยเฉพาะ
 
แม้จะใช้อุปกรณ์มาแล้วสารพัด แต่ผลลัพธ์ที่เวิร์กนั้นมีน้อยกว่าที่คาด เราจึงขอเปิดเข้าแอปพลิเคชัน พิมพ์คำว่าอุ่นข้าว เพื่อหาอุปกรณ์ใหม่ และทันใดนั้นก็โดนป้ายยา จัดกล่องอุ่นข้าวมาโดยเฉพาะ
 
กล่องที่ว่ามีลักษณะคล้ายกับกล่องทัปเปอร์แวร์พลาสติกทั่วไปนี่แหละ เพียงแต่มีขนาดกะทัดรัดกว่าหน่อย และมีความพิเศษคือ ตะแกรงที่ลอยขึ้นมาจากก้นกล่องเล็กน้อย มีไว้ช่วยเพิ่มคุณสมบัติให้ความร้อนและความชื้นถ่ายเทถึงกัน ที่สำคัญคือมาพร้อมฝาปิดมิดชิด ทำให้ความร้อนกระจายอยู่ภายในได้ดี เมื่ออุ่นข้าวตามสูตร เราจึงได้ข้าวนุ่ม ร้อนระอุ พร้อมกิน เป็นอีกวิธีที่เลิศ!
 
แต่ทั้งนี้ก็ต้องตรวจสอบคุณภาพของพลาสติกให้ดี พลาสติกที่เข้าไมโครเวฟได้ต้องเป็นพลาสติกประเภทที่ 5 หรือ PP (Polypropylene) ที่มีความทนทาน ทนแรงกระแทกได้ดี เหนียว ยืดหยุ่นได้ ทางที่ดีอย่าลืมมองหาสัญลักษณ์ระบุประเภทของพลาสติกหรือสัญลักษณ์ Microwavable หรือ Microwave Safe ไว้สักนิดก่อนใช้ อุ่นใจกว่า
 


ใช้แรปพลาสติกปิดไว้ เห็นแม่บ้านญี่ปุ่นเขาทำกัน
 
ทดลองวิธีที่เห็นแม่บ้านญี่ปุ่นเขาใช้กันบ้าง นำแรปพลาสติกมาปิดฝาไว้ให้มิดแล้วนำเข้าไมโครเวฟ อุ่นด้วยไฟกลาง นาน 2 นาที
 
ว่ากันว่าการปิดฝาด้วยแรปพลาสติกนั้นคล้ายคลึงกันกับการอุ่นในภาชนะที่มีฝาปิด เพราะจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของอาหาร ทำให้อาหารนุ่ม ร้อน ไม่แข็งกระด้าง
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ตามภาพที่เห็น ข้าวระอุจริง แต่เนื้อสัมผัสยังแห้ง ไม่นุ่มเหมือนหุงใหม่
 
วิธีนี้มีข้อควรระวังนิดหน่อยเช่นกัน คือต้องเลือกแรปพลาสติกชนิดที่นำเข้าไมโครเวฟได้เท่านั้นนะ ไม่งั้นอาจได้สารตกค้างมาโดยไม่รู้ตัว
 


Tips ชุบชีวิตข้าวในตู้เย็น ฉบับศาลานา
 
หลังทดลองกันมา 6 วิธี ในที่สุดผลลัพธ์ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าการเหยาะน้ำส้มสายชูและใช้กล่องอุ่นข้าว สามารถช่วยปลุกข้าวในตู้เย็นให้กลับมานุ่มอร่อย เหมือนหุงใหม่ได้ดีที่สุด
 
ใครที่อยากนำไปทดลองตาม นอกจากจะใส่ใจอุปกรณ์ที่ใช้อุ่นข้าวว่าต้องปลอดภัยแล้ว อย่าลืมตั้งต้นด้วยข้าวอินทรีย์ที่การันตีคุณภาพ อย่าง ‘ข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์ จากศาลานา’ นอกจากจะเป็นข้าวที่มั่นใจว่าชาวนาตั้งใจปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการปลูกแล้วยังมีวิตามินช่วยบำรุงระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้ออีกด้วย
สั่งซื้อข้าวศาลานา ได้ที่

LINE: @Salana https://bit.ly/3cKp4Gj
Facebook: https://www.facebook.com/Salana.thailand
Website: www.salanashop.com
Shopee: https://shope.ee/403p63yFf6
Lazada: www.lazada.co.th/shop/salana-organic-village
JD Central: www.jd.co.th/shop/pc/20435.html
 
 



เรื่องที่น่าสนใจ

ชาวนาไทยได้อะไร? เมื่อปลูกข้าวให้ศาลานา

แจกสูตร 3 เมนูของว่างจากข้าวอินทรีย์ เพิ่มคุณค่าให้ของว่างยามบ่าย ด้วยข้าวดีที่ศาลานาภูมิใจ

ข้าวที่เรากินอยู่ทุกวันคือพืชที่มีชีวิต แม้แต่หลังเก็บเกี่ยวแล้ว เมล็ดข้าวก็ยังเปลี่ยนแปลงตามเวลา นั่นทำให้เส้นทางของข้าวตั้งแต่นาสู่จานมีจังหวะเวลาเฉพาะตัวที่สัมพันธ์กับฤดูกาล

ทำไมข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์ ถึงน่าอุดหนุน

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 ประชาคมโลก เริ่มให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร การทำการเกษตร