เกษตรวิถีธรรมชาติไทย การวัดใจเกษตรกรรมไทยสู่เกษตรกรรมโลก
16 พฤศจิกายน 2561
เกษตรวิถีธรรมชาติไทย การวัดใจเกษตรกรรมไทยสู่เกษตรกรรมโลก
ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 ประชาคมโลก เริ่มให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร การทำการเกษตร จึงได้รับความสำคัญ และเปลี่ยนกลับมาเป็นวิถีของเกษตรกรรมแบบธรรมชาติมากขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ “ลด ละ เลิก” การใช้สารเคมี ซึ่งนั่นทำให้เกษตรวิถีธรรมชาติ ที่เป็นวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมได้รับการให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
ยุโรป…ตลาดใหญ่ แต่ผลิตได้น้อย
การมีสุขภาพที่ดี ได้กินอาหารสดใหม่ ไม่มีสารพิษปนเปื้อน เป็นเรื่องที่ทั้งโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางยุโรปค่อนข้างตื่นตัวกันมากกว่าใคร ๆ ซึ่งจากการวิเคราะห์ของหลากหลายสำนักบ่งชี้ว่า ตลาดสินค้าเกษตรธรรมชาติ ใน ยุโรป และ อเมริกาเหนือ รวมกันแล้ว มีมากถึง 96% ของปริมาณความต้องการทั้งโลก แต่ทั้ง 2 ภูมิภาค กลับมีผลผลิตทางการเกษตรด้วยวิถีธรรมชาติรวมกันเพียงแค่ 34% เท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นว่า ความต้องการ กับ ความสามารถในการผลิต ของตลาดใหญ่นั้น ยังมีช่องว่างอยู่มากถึง 62% ซึ่งแสดงถึงโอกาสค่อนข้างสูงของการนำเข้าสินค้าเกษตรวิถีธรรมชาติ
นี่จึงกลายเป็นความท้าทายสำหรับเกษตรกรวิถีธรรมชาติ ว่าจะสามารถเข้าไปเติมเต็มช่องว่างตรงนั้นได้อย่างไร…
เกษตรวิถีธรรมชาติ เปลี่ยนเพื่อท้าทาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ประเทศ
เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ทำการเกษตร โดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวผ่านวิธีการเคมีมานานหลายทศวรรษ จากการสำรวจของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) บอกให้เรารู้ว่าการเกษตร (แบบเคมี) ของไทยที่ผ่านมานั้น…
- ใช้ยาฆ่าแมลง มากเป็นอันดับ 5 ของโลก
- ใช้ยาฆ่าหญ้า มากเป็นอันดับ 4 ของโลก
- นำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร เป็นจำนวนเงินกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี
เงินจำนวน 30,000 ล้านบาท เป็นรายจ่ายที่ไม่ใช่ตัวเลขน้อย ๆ เลย นี่ยังนับเฉพาะ การนำเข้า เท่านั้น หากนับรวมค่าใช้จ่ายทางออ้อมจากการใช้สารเคมี รวมถึงดอกเบี้ยจากหนี้สินที่เกิดขึ้น เราสูญเสียเงินโดยไม่จำเป็น แต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล!
ซึ่งหากเราลองหันกลับมามอง
เกษตรวิถีธรรมชาติ เราจะพบว่า การทำการเกษตรวิถีธรรมชาตินี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเหล่านั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือสารสังเคราะห์ทางการเกษตรอื่น ๆ เพราะเกษตรวิถีธรรมชาติ สามารถนำสิ่งต่างๆ รอบตัวมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ปุ๋ยหมัก ที่เราทำได้เอง ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เช่น หญ้า ฟาง หรือแม้แต่เปลือกผลไม้ที่ไร้ค่า) ไปจนน้ำหมักสูตรต่าง ๆ ที่ใช้ได้ทั้งไล่แมลงและบำรุงพืช นี่ยังไม่นับการใช้วิธีธรรมชาติ อย่างเช่น ตัวเบียน ตัวห้ำ ในนาข้าวอีก
บางคนอาจมีความรู้สึกโต้แย้งในใจว่า เคยลองทำแล้ว แต่ได้ปริมาณผลผลิตสู้การใช้สารเคมีไม่ได้ อยากชวนให้ลองคิดตามสักนิดลองถามตัวเองดู ว่าถ้าเปลี่ยนมาทำเกษตรวิถีธรรมชาติ รายจ่ายค่ายา ค่าปุ๋ยหายไป ปริมาณผลผลิตอาจจะลดลง (ซึ่งหลายคนที่ทำก็บอกว่าแทบไม่ต่าง) แต่ขายได้ราคาดีขึ้นมาก แถมยังมีรายได้เสริมจากการขายอย่างอื่นอีก จะดีกว่าหรือเปล่า
และหากมองในภาพรวมของประเทศ ถ้ารายจ่ายตรงนี้ 30,000 ล้านต่อปีตรงนี้หายไป แล้วเราสามารถเพิ่มกำลังการเพาะปลูกมาเป็นแบบวิถีธรรมชาติที่ตลาดกว่า 62% ของโลกต้องการ ประเทศของเราจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแค่ไหน…
ข้อมูลจาก
http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1017-img.pdf
http://actorganic-cert.or.th/th/asean-home-of-organic-2/
http://www.greennet.or.th/news/1966